วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาองค์กร คืออะไร


การพัฒนาองค์กร คืออะไร

เห็นมีคนเสริชหาคำนี้เข้ามา คิดว่าคงยังไม่เคยเขียนไว้

เริ่มจากคำว่า องค์การ คือคำที่ครอบคลุมคำว่า องค์กร ไว้ด้วย เพื่ออธิบายความหมายขององค์กรในรูปแบบต่างๆ
การพัฒนาองค์การ คือ การพัฒนา เปลี่ยนแปลง ให้องค์กรไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

นอกจากนี้ยังมีคำว่า ปฏิรูป หรือ Transformation คือ การเปลี่ยนรูปร่างลักษณะจากเดิม เป็นคำเดียวกับหนังเรื่อง Transformer ที่หุ่นยนต์เปลี่ยนรูปร่างได้เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อม

การพัฒนานั้นก็จะต้องพัฒนาในทุกๆ ส่วนขององค์กร ไม่ว่าจะเป็น พนักงาน ซึ่งบ้านเราทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว โดยการฝึกอบรม ดูงาน นอกจากนี้จะมีทรัพยากรอื่นๆ เช่น การจัดการเงินทุน วัสดุอุปกรณ์ วิธีการบริหารจัดการ เทคโนโลยี โครงสร้างที่เหมาะสมกับภารกิจขององค์กร

จากที่ได้เขียนไปแล้วในเรื่อง Reengineering, Downsizing, Merging ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบขององค์กรในลักษณะต่างกันตามความจำเป็นที่จะต้องทำ ในปัญหาวิกฤตอันเดียวกัน แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพขององค์กรไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีเดียวกัน

อย่างวิกฤตปี 2540 บางบริษัทก็ปรับลดขนาดองค์กรเพื่อความอยู่รอด โดยการลดจำนวนพนักงานลง หรือขายบริษัทในเครือออกไป หรือ แบ่งบริษัทออกไปเป็นบริษัทลูก แต่บางบริษัทก็รวมตัวกันเพื่อไม่ต้องแข่งขันกันเองและต้องการรักษาตำแหน่งของตนเองในอุตสาหกรรมนั้น ไว้ เช่น HP กับ Compaq เป็นต้น

พอเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นบริษัทที่มีทุนมาก บางทีก็จะซื้อบริษัทอื่นๆ เข้ามาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง อย่างเช่น บริษัทประเภท Outsourcing ที่รับจ้างทำงานให้บริษัทอื่น เช่น ทำความสะอาด รปภ. จัดหางาน จัดการวัสดุอุปกรณ์ หรือ จัดการสิ่งแวดล้อม คือ รวมเอางานรับจ้างมาไว้กับตัวเองให้หลากหลายรูปแบบ เข้ามาหาบริษัทนี้แล้วไม่ต้องไปหลายๆ ที่ให้เสียเวลา One Stop Service อะไรประมาณนั้น ซึ่งเป็นการเพิ่มขนาดขององค์กรแบบควบรวมกิจการ

บริษัทใหญ่ๆ ที่ก่อตั้งมาหลายสิบปี ใช้ว่าองค์กรจะเข้าทีเข้าทางและบริหารงานได้ราบรื่น หลายๆ บริษัทจะเจอช่วงเวลาที่ องค์กรทำงานได้เชื่องช้าเนื่องจากองค์กรมีขนาดใหญ่เกินไป หรือ Struck in the middle จนต้องปรับโครงสร้างองค์เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เช่น การแยกบริษัทออกเป็นบริษัทลูกหลายๆ บริษัท ตัวอย่างเช่น บริษัทธุรกิจบันเทิง จะแยกบริษัทออกไปตามแนวเพลง แยกบริษัทภาพยนตร์ออกจากเพลง เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้ตามตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market

การพัฒนาองค์กรนอกจากจะปรับเปลี่ยนองค์กรของตนเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกแล้ว ยังต้องปรับตัวให้สามารถประสานงานกับองค์กรอื่น ที่ต้องมีส่วนมาเกี่ยวข้องกัน



จะขอยกตัวอย่าง สามองค์กร ได้แก่ เครือข่าย สสส., สมัชชาสุขภาพ และ มหาวิทยาลัยชีวิต ซึ่งทั้งสามองค์กรมีหลักทฤษฎีอันเดียวกันคือ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ลองดูที่สัญลักษณ์ของ มหาวิทยาลัยชีวิต คือ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา นั้นเอง

โครงสร้างของทั้งสามองค์กรจะคล้ายกันหมดคือ ประกอบด้วยสามฝ่าย นักวิชาการ, ประชาชน ชุมชน และภาครัฐๆ มีโครงสร้างองค์กรเป็นแบบเครือข่าย อย่าง ม.ชีวิต จะเรียกว่าศูนย์เรียนรู้ ที่มี 112 ศูนย์ทั่วประเทศ ภารกิจคือให้ความรู้ในระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชนในวัยผู้ใหญ่ ขณะนี้มี ป.ตรี และ ป.โท ซึ่ง หมอประเวศ กล่าวว่า “นี้คือการปฏิรูปการศึกษาในรอบ 100 ปี”

บางทีการพัฒนาองค์กรอาจจะต้องถึงขั้น ปฏิวัติ ก็ได้ถ้าคิดว่าเราไปได้ถึง และจะเป็นประโยชน์กับองค์กรเองหรือสังคม บ้านเราก็คุ้นเคยกับการปฏิวัติพอสมควร แต่จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเป็นคนตอบครับ

ส่วน สสส. ภารกิจคือ การลดการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และอุบัติเหตุ เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายเพียงสามงานนี้ โดยมีเครือข่ายในแต่ละจังหวัด เป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ของจังหวัดตนเอง
-สสส.

ส่วน สมัชชาสุขภาพ จะมีภารกิจในการส่งเสริมสุขภาวะในทุกๆ ด้านของประชาชนไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต และเป็นองค์กรแบบเครือข่ายเช่นกัน มีขนาดองค์กรใหญ่กว่าสององค์กรดังกล่าว และมีการรวมมือกันของหลากหลายภาคส่วน
-สมัชชาสุขภาพ

องค์กรทั้งสาม มีโครงสร้างแบบล่างขึ้นบน คือ ท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดนโยบายเอง และได้รับการสนับสนุนเงินทุนต่างๆ จากภาครัฐ ปกติรัฐฯ จะเป็นเป็นผู้กำหนดนโยบายว่าจะให้ท้องถิ่นทำอะไร คือ เป็นโครงสร้างกลับหัวกลับหางกัน

แต่ ม.ชีวิต เป็นองค์กรภายใต้ สสวช. (มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน) ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก บริษัท ปตท. และมีการสนับสนุนด้านอื่นจาก มูลนิธิหมู่บ้าน, ธกส. และ สวทช. (สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) คือ เป็นองค์กรเอกชน ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากเอกชน และได้รับความร่วมมือสนับสนุนด้านอื่นๆ จากองค์กรของรัฐฯ และศูนย์เรียนรู้เครือข่าย บริหารจัดการตัวเอง โดยการสนับสนุนจาก ม.ชีวิตส่วนกลาง เป็นองค์กรที่มีอิสระในการบริหารงาน แต่มีการช่วยเหลือและสนับสนุนจากหลายองค์กร

ผมก็เพิ่งจะได้เห็นว่ามีองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกัน สนับสนุนกันหลายองค์กรแบบนี้

.......
โครงสร้างองค์กร ม.ชีวิต

*รัฐบาล
*ปตท., มูลนิธิหมู่บ้าน, ธกส., สวทช.
*สสวช. - มีหลายภารกิจ ได้แก่
----ม.ชีวิต 112ศูนย์, โครงการแก้หนี้แก่จน, ต้นกล้าอาชีพ, โครงการพัฒนาเทศบาลและ อบต., โครงการเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง, โครงการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ ปตท. พัฒนา
.......

ที่ต้องมี รัฐบาล อยู่ในโครงสร้าง เพราะ ธกส. และ สวทช. เป็นองค์กรของรัฐฯ และมีโครงการต้นกล้าอาชีพ หลักสูตรวิสาหกิจชุมชน เป็นโครงการของรัฐฯ ที่ให้งบประมาณผ่านทาง สวทช. หรือโครงการแก้หนี้แก้จน ที่ทำร่วมกับ ธกส.
-ศรร.ม.ชีวิต อ.เมือง จ.ขอนแก่น - http://2lifeu.blogspot.com/

ซึ่งลักษณะโครงสร้างแบบเครือข่ายนี้ เป็นโครงสร้างแบบองค์กรไร้ขอบเขต คือ โตได้ไม่มีขีดจำกัด ไม่จำกัดระยะทาง สถานที สามารถเกิดองค์กรเครือข่ายได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย สำหรับ ม.ชีวิต ได้วางแผนการสร้างเครือข่ายในต่างประเทศด้วย เพื่อการพัฒนาทางวิชาการแบบไม่หยุดยั้ง

การพัฒนาองค์กร จึงไม่มีขีดจำกัดเช่นกันว่า เราจะต้องทำแค่ไหนจึงจะพอ เพราะโลกยังไม่หยุดหมุน การพัฒนาจึงต้องปรับไปตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

แนวคิดรูปแบบนี้ ส่วนนึงมาจาก ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง คือ ทำจากเล็กไปใหญ่ จากในไปสู่นอก และจึงเป็น จากล่างขึ้นบน คิดจากเรื่องเล็กๆ เพื่อไปสู้เป้าหมายอันใหญ่

ทำจากระดับครอบครัว ชุมชน แล้วขยายไปสู่ สังคม และในระดับประเทศ

“จงทำจากเรื่องเล็กๆ ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่”
“เป้าหมายบนยอดเขา อยู่ตรงทุกอย่างก้าวที่ไม่หยุดเดิน”
“การเดินกลับไปทางเก่า เท่ากับเดินต่อ”

ลักษณะคำขวัญ หรือ Slogan แบบนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ที่จะกระตุ้นและสร้างพันธะกิจร่วมกันให้กับคนในองค์กร ซึ่งส่งผลดีมากกับขวัญกำลังใจขององค์กรเครือข่ายที่อยู่ห่างไกลกัน และผู้บริหารไม่สามารถไปดูแลได้อย่างทั่วถึง

ป.ล. การพัฒนาองค์กร เหมาะกับ อาจารย์สายบริหารธุรกิจ นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ทำงานสายฝึกอบรม หรือ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์

By ODevel


โฆษณาชุดของ สสส.



สมัครสมาชิกฟรี
1loveshopping